- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
สศท.11 เปิดผลเกษตรอินทรีย์ข้าวนาปี จ.ศรีสะเกษ แจงพื้นที่กว่า 8 พันไร่ มูลค่า 1.36 ล้านกิโลกรัม
ข่าวที่ 155/2559 วันที่ 8 พฤศจิกายน 2559
สศท.11 เปิดผลเกษตรอินทรีย์ข้าวนาปี
จ.ศรีสะเกษ แจงพื้นที่กว่า 8 พันไร่ มูลค่า 1.36 ล้านกิโลกรัม
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่
11 แจงผลศึกษาข้อมูลแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์
กรณีศึกษา ข้าวนาปี จังหวัดศรีสะเกษ ปี 58
เผย
พื้นที่ปลูกข้าวนาปีอินทรีย์ รวมของจังหวัดจำนวน 8,360 ไร่ ผลผลิตข้าวนาปีอินทรีย์
1.36 ล้านกิโลกรัมระบุ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูง ที่ดอน อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ แนะ บริหารจัดการปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มสารอินทรีย์
วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว และลดต้นทุนโดยวางแผนการผลิตให้เหมาะสม
นายคมสัน จำรูญพงษ์
รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เปิดเผยถึงผลการศึกษา โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 จังหวัดอุบลราชธานี
(สศท.11) ได้ทำการศึกษาแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ กรณีศึกษาข้าวนาปี
จังหวัดศรีสะเกษ ปี 2558 พบว่า จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่สำหรับปลูกข้าวนาปีอินทรีย์
จำนวน 8,360 ไร่ ผลผลิตรวม 1.36 ล้านกิโลกรัม (ข้าวเปลือก)
สำหรับต้นทุนและผลตอบแทน พบว่า
เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตข้าวนาปีอินทรีย์ รวม 2,523.18 บาท/ไร่ จำแนกเป็นต้นทุนผันแปร 1,519.13
บาท/ไร่ เป็นต้นทุนคงที่ 1,004.05 บาท/ไร่
โดยค่าเช่าที่ดิน ค่าเก็บเกี่ยว ค่าเตรียมดิน และค่าปุ๋ย มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง คิดเป็นร้อยละ 97
ของต้นทุนทั้งหมด (แยกเป็นค่าเช่าร้อยละ 40 เก็บเกี่ยวร้อยละ 20 เตรียมดินร้อยละ 20
และ ปุ๋ยร้อยละ 17)
ปริมาณผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้เฉลี่ย
389.78 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งราคาที่เกษตรกรจำหน่ายได้เฉลี่ย
16.61 บาท/กิโลกรัม
ทำให้เกษตรกรมีรายได้หรือผลตอบแทน จากการผลิต 6,474.25 บาท/ไร่
และเมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้วได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 2,523.18 บาท/ไร่
พื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ในจังหวัดศรีสะเกษ
ส่วนใหญ่เป็นที่สูง/ที่ดอน ประกอบกับพื้นที่ทำการเกษตร
อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ
ส่งผลให้ทำนาได้ 1 ครั้ง/ปี ดังนั้น แนวทางพัฒนา ควรบริหารจัดการปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มสารอินทรีย์วัตถุใส่ปุ๋ยตามผลการวิเคราะห์ดิน
วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม
และลดต้นทุนโดยวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับการปลูกข้าวนาปีเกษตรอินทรีย์
นอกจากนี้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรเน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติ
วิธีคิด วิธีทำใหม่ สร้างแปลงต้นแบบ แปลงตัวอย่าง แปลงเรียนรู้ เน้นการพัฒนา
ปรับปรุง บำรุงดินด้วยการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยการไถกลบตอชัง
การใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยพืชสด (ปอเทือง ถั่วพร้า) และปุ๋ยอื่นๆ
จำพวกปุ๋ยคอกและฮอร์โมนให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นอินทรียวัตถุที่ช่วยปรับโครงสร้างดินให้มีความร่วนซุย
มีธาตุอาหารจำเป็นที่พืชต้องการ และราคาต่ำกว่าปุ๋ยเคมี
ที่สำคัญคือ การปรับทัศนคติให้เกษตรกรยอมรับคุณประโยชน์ควบคู่กับการส่งเสริมให้ผลิตใช้เองและจำหน่ายภายในชุมชน
อีกทั้ง ควรจัดถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง พัฒนาเกษตรกรสู่ระบบมาตรฐาน
อาทิเช่น GAP Organic Thailand IFOAM Global
Gap PGS เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิต
เพิ่มมูลค่าผลผลิต เพิ่มรายได้
การรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายการผลิตพร้อมเชื่อมโยงการตลาดแบบครบวงจร
ทั้งภาครัฐและเอกชน และลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
*********************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่
11 จังหวัดอุบลราชธานี